ดีเอสไอแจ้งกรุงไทยอายัดทรัพย์ 30 บริษัทเอกชนแจ้งเท็จขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,600 ล้านบาทวันนี้

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เปิดเผยความคืบหน้าคดีที่กระทรวงการคลังได้ยื่นคำร้องต่อดีเอสไอขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของ 30 บริษัทเอกชนซึ่งได้ยื่นขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกเป็นเท็จ หรือโกงภาษี กว่า 2,600 ล้านบาทจากกระทรวงการคลังว่า นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลังได้ประสานให้ดีเอสไอเข้าตรวจสอบคดีดังกล่าวมานานกว่า 2 เดือนแล้ว ซึ่งจากการเข้าตรวจสอบพบว่ากลุ่มบริษัทเอกชนดัง กล่าวมีการกระทำความผิดจริง ดีเอสไอจึงให้ทางกระทรวงการคลังร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้กระทำผิดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และขณะนี้ได้รับคดีดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษแล้ว โดยทั้ง 30 บริษัทมีความผิดในข้อหาเป็นตัวการที่กระทำความผิดและทำให้รัฐเกิดความเสียหาย

“อย่างไรก็ตาม ในวันนี้(10มิ.ย) ดีเอสไอจะทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคารกรุงไทย ในฐานะที่เป็นธนาคารพาณิชย์ และเป็นนิติบุคคลที่ทำหน้าที่ในการคืนเงินภาษีให้ทำการยึดอายัดทรัพย์สินของบริษัทเอกชน 30 บริษัท ส่วนสถาบันการเงินอื่นหากพบว่า หลังการนำเงินภาษีเข้าบัญชีนิติบุคคลแล้วเงินถูกกระจายไปยังบุคคลอื่นๆ ดีเอสไอจะตามยึดคืนโดยจะประสานให้ธนาคารอื่นๆอายัดเงินไว้ตรวจสอบต่อไป”อธิบดีดีเอสไอ กล่าว

นายธาริต กล่าวว่า คดีนี้ทางดีเอสไอมอบหมายให้นางศิวาพร ชื่นจิตศิริ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน เนื่องจากเป็นคดีฉ้อโกงภาษีรายใหญ่ ซึ่งการตรวจสอบจะต้องทำอย่างละเอียดรอบครอบโดยเฉพาะการตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อทำการยึดอายัด

ทั้งนี้จากการตรวจสอบเบื้องต้นของกรมสรรพากรพบว่า กลุ่มบริษัทดังกล่าวได้ร่วมมือกันเป็นขบวนการมาตั้งแต่ช่วงปี 2555-2556 แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าประกอบธุรกิจนำเข้าและส่งออกสินค้าประเภทใด โดยพฤติกรรมของเอกชนที่มีการขอคืนภาษีปลอม จะอาศัยช่องโหว่ของการคืนภาษีสำหรับวัตถุดิบที่นำเข้าเพื่อผลิตส่งออก ตามมาตรา 19 ทวิ ซึ่งที่ผ่านมา แม้ที่ผ่านมากรมศุลกากรจะปรับปรุงวิธีการคืนเงินให้ผู้ประกอบการจากเดิมใช้เวลากว่า 1 เดือน เหลือแค่ 15 วัน เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก โดยกรมศุลกากรปรับกระบวนการทำงานให้รวดเร็วมากขึ้น กระบวนการตรวจสอบที่เคยมีการตรวจทุกรายการก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นการสุ่มตรวจเป็นบางรายการ เพื่อให้การคืนภาษีทำได้เร็วขึ้น จึงทำให้เกิดกลุ่มที่ใช้วิธีสร้างหลักฐานการขอคืนภาษีปลอม โดยไม่มีการนำเข้าวัตถุดิบและผลิตสินค้าออกไปขายจริง โดยกลุ่มผู้กระทำความผิดจะมีรายชื่อเดิมๆ แต่ตั้งบริษัทใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างหลักฐานในการขอคืนภาษีเท็จอย่างต่อเนื่อง

จากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มผู้ส่งออกทั้ง 30 ราย มีสถานประกอบการที่เป็นบ้านร้าง ไม่มีความน่าเชื่อถือ มีกลุ่มกรรมการซ้ำซ้อนกัน และมีการตั้งบริษัทขึ้นมา 5-6 เดือน แล้วปิดตัว และเปิดใหม่ มีลักษณะเป็นขบวนการ

แหล่งข่าวจาก posttoday…