น.ส.วิมล ชาตะมีนา เลขานุการคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการอยู่ระหว่างพิจารณาและศึกษารายละเอียด รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หากมีการปรับปรุงเงื่อนไขใหม่ในการรับประกันภัยพิบัติของกองทุนฯ
“ทางคณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอให้มีการปรับลดค่าเบี้ยประกันเพิ่มและลดวงเงินความรับผิดหรือซับลิมิต และ|แก้ไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ภัยพิบัติใหม่ให้คณะกรรมการบริหารพิจารณา แต่ทางคณะกรรมการบริหารเห็นว่ายังมีรายละเอียดไม่เพียงพอ เช่น หากมีการแยกกรมธรรม์ความคุ้มครองของประกันอัคคีภัย ภัยจากน้ำท่วมธรรมดาและภัยจากน้ำท่วมที่เกิดจากภัยพิบัติสำหรับที่อยู่อาศัยออกจากกันจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง มีข้อดี ข้อเสีย เป็นอย่างไร หรือหากมีการปรับลดค่าเบี้ยประกันลงจะกลาย|เป็นว่าทางกองทุนฯ จะลงมาแข่งขันกับเอกชนหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น จึงสั่งให้คณะอนุกรรมการฯ กลับมาศึกษาข้อมูลใหม่อีกครั้ง”น.ส.วิมล กล่าว
นอกจากนี้ ล่าสุดได้มีบริษัทประกันประมาณ 10 แห่ง เสนอขอปรับปรุงสัญญาในการส่งงานประกันภัยต่อให้กับกองทุนฯ โดยขอเพิ่มสัดส่วนในการรับประกันด้วยตัวเองมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และมีบริษัทรับประกันภัยต่อต่างชาติหรือรีอินชัวเรอส์กลับเข้ามารับงานในไทยและทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เบี้ยประกันภัยพิบัติปรับลดลงด้วย ทำให้บริษัทประกันภัยในไทยมีความสามารถในการรับงานเองเพิ่มขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุนฯ เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีกรมธรรม์ภัยพิบัติที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ 1.3 ล้านกรมธรรม์ โดยมีทุนประกันต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ อยู่ 5.6 หมื่นล้านบาท และมีเบี้ย 511 ล้านบาท ซึ่งธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ส่งงานกรมธรรม์ภัยพิบัติของลูกค้ารายย่อยเข้ามาเป็นจำนวนมากถึง 2 แสนราย ภายในเดือนเดียว เนื่องจากได้มีการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้กลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนการซื้อกรมธรรม์สูงสุดถึง 94% รองลงมาเป็นกลุ่มเอสเอ็มอี 5% และกลุ่มอุตสาหกรรม 1%
แหล่งข่าวจาก posttoday…