น.ส.บังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบในอาเซียน กล่าวว่า ตามที่บริษัทบุหรี่ได้ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาตรการให้พิมพ์คำ เตือนบนซองบุหรี่ขนาด 85% ของพื้นที่ซอง เพราะบริษัทบุหรี่ รู้ดีว่าจะมีผลทำให้ยอดขายลดลง และมีผลทำให้บุหรี่กลายเป็นสินค้าที่น่าขยะแขยงมากยิ่งขึ้น
บริษัทบุหรี่ เคยฟ้องรัฐบาลออสเตรเลีย และอุรุกวัย ที่กำหนดมาตรการให้พิมพ์คำเตือนขนาดใหญ่ บนซองบุหรี่ แต่แพ้คดี โดยศาลตัดสินว่ามาตรการเรื่องนี้ของรัฐไม่ได้ละเมิดกฎหมายเครื่องหมายการค้า ตามที่บริษัทบุหรี่อ้าง
เมื่อปีที่แล้ว บริษัทบุหรี่ 4 บริษัท และสมาคมร้านค้าปลีก แพ้คดีที่ยื่นฟ้องรัฐบาลออสเตรเลีย ทำให้ไม่สามารถล้มกฎหมายที่รัฐบาลกำหนดให้พิมพ์ขนาดภาพคำเตือนด้านหน้า 75% และด้านหลัง 90% บวกกับคำเตือนเรื่องการทิ้งก้นบุหรี่เสี่ยงต่อไฟไหม้อีก 10% ทำให้คำเตือนบนซองบุหรี่ ในออสเตรเลียมีขนาดเฉลี่ย 87.5% และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ในขณะที่อุรุกวัยใช้ภาพคำเตือน 80 % ตั้งแต่ พ.ศ.2553
เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุผลที่บริษัทบุหรี่ฟ้องกระทรวงสาธารณสุขไทยนั้น ไม่ต่างจากที่บริษัทบุหรี่ฟ้องประเทศอื่น ๆ ซึ่งล้วนฟังไม่ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่บอกว่า มาตรการนี้ทำให้บริษัทเสียหายทั้งที่โดยแท้จริงแล้วบริษัทบุหรี่ทั้งในและ ต่างประเทศสร้างความสูญเสียต่อประเทศไทย จากการที่ต้องใช้เงินไปกับการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ถึงปีละ 52,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.5% ของ GDP ขณะที่บริษัทบุหรี่โกยกำไรมหาศาลจากการขายบุหรี่ ซึ่งเป็นสินค้าที่ทุกคนรู้ว่าเสพติดรุนแรงมีแต่โทษและฆ่าผู้บริโภคของตัวเอง โดยในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ถึงปีละ 50,700 คน
ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย หัวหน้าภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุข ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ เป็นมาตรการที่สำคัญในการเตือนทั้งผู้สูบและผู้ไม่สูบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนไม่ให้ริเริ่มการสูบบุหรี่ ให้ตระหนักถึงอันตรายของการสูบุหรี่ แม้ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดให้มีภาพคำเตือนขนาด 55% แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่าประสิทธิภาพในการเตือนลดลง เนื่องจากใช้มานานแล้ว ดังนั้นการที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศฉบับใหม่ โดยเปลี่ยนรูปภาพใหม่หมดและเพิ่มขนาดเป็น 85% จึงเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง
กรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งเป็นกฎหมายโลกเรื่องนี้ ได้ชี้ชัดว่า ประสิทธิภาพของคำเตือนจะเพิ่มขึ้นตามขนาดของคำเตือน จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติว่าประเทศภาคีของกรอบอนุสัญญานี้ควรกำหนดให้มีคำเตือน ขนาดใหญ่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะจะเป็นช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มประชากรที่การศึกษาน้อย เด็กและเยาวชน.
แหล่งข่าวจาก posttoday…